นับตั้งแต่ปี 2430 สารไซยาไนด์ได้ถูกนำมาใช้ในกิจการเหมืองแร่เพื่อสกัดแร่ทองคำ และโลหะอื่นๆ เช่น ตะกั่ว เงิน ทองแดง เป็นครั้งแรกที่แอฟริกาและนิวซีแลนด์ เพราะทองคำมักพบในแร่คุณภาพต่ำ คือมีปริมาณไม่เกิน 10 กรัมใน 1 ตัน
แต่หากแยกทองคำออกจากแร่ด้อยคุณภาพด้วยวิธีบด หรืออาศัยความแตกต่างของความถ่วงจำเพาะ การแยกทองคำออกมาจะไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้การแยกทองคำด้วยสารไซยาไนด์ได้รับความนิยมในเหมืองแร่ทองคำโดยทั่วไป เพราะสามารถสกัดทองคำได้มากกว่า 90%
นอกจากการใช้ไซยาไนด์แล้ว ยังมีสารเคมีอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้งานในลักษณะเดียวกัน เช่น คลอไรด์ โบรไมด์ ไทโอยูเรีย และไทโอซัลเฟต แต่สารประกอบเชิงซ้อนของทองคำกับสารเหล่านี้ ”เสถียร” น้อยกว่าสารเชิงซ้อนของไซยาไนด์ และยังเสี่ยงต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อมสูง และราคาแพง จึงไม่นิยมนำมาใช้
การผลิตทองคำด้วยไซยาไนด์
1.บดแร่ที่ขุดได้ตามขนาดที่ต้องการ
2.ผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อแยกโลหะ เช่น ทองคำ เงิน และทองแดง ออกจากสินแร่
3.นำโลหะผสมที่สกัดได้ไปหลอม (smelting)
4.แยกทองคำให้บริสุทธิ์ (refining)
5.นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
พิษของไซยาไนด์
สารเคมี ไซยาไนด์ มีความเป็นพิษสูง พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจมาจากกระบวนการทางธรรมชาติ และกิจกรรมต่างๆ ในอุตสาหกรรม ไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านผิวหนังและตา
ระดับความรุนแรงจากพิษไซยาไนด์ขึ้นกับ 4 ปัจจัย คือ
- ประเภทของสิ่งมีชีวิต
- ระยะเวลาการได้รับ
- ปริมาณที่ได้รับ และ
- เส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด
มนุษย์ เมื่อสัมผัสหรือสูดดมไซยาไนด์ปริมาณสูงที่กระจายอยู่ในอากาศแค่เพียงเวลาสั้นๆ จะส่งผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ เพราะสารเคมีชนิดนี้จะรวมตัวกับเอมไซม์ที่มีชื่อว่า cytochrome oxidase ซึ่งทำหน้าที่ขนย้ายอิเล็กตรอนในกระบวนการสังเคราะห์ ATP (AdenosinTriphosphate) กลายเป็นสารเชิงซ้อนที่มีความเสถียรสูง ทำให้เซลล์ไม่สามารถใช้ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในกระแสเลือดได้เต็มที่ จนกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของร่างกายมนุษย์เปลี่ยนจากสภาวะที่ใช้ออกซิเจน เป็นสภาวะที่ไร้ออกซิเจน ทำให้เกิดการสะสมแลคเตทเอาไว้ในเลือดสูง สุดท้ายก็เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การหายใจหยุดชะงักและเสียชีวิตได้ในที่สุด
การสัมผัสไซยาไนด์ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด ปวดหัวใจ อาเจียน ปวดศีรษะ และต่อมไทรอยด์ขยายตัว ส่งผลให้มือและเท้ามีอาการอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ตาพร่ามัว และหูอื้อ
นก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ และปลา เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความไวต่อไซยาไนด์มาก ปลาหลายชนิดอาจมีความสามารถในการว่ายน้ำและการสืบพันธุ์ลดลง ระบบการหายใจขัดข้อง ระบบการเจริญเติบโตผิดปกติ และตกเป็นเหยื่อได้
หมายเหตุ - ข้อมูลจาก ปริษา จารุวาระตระกูล : ไซยาไนด์กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (พ.ศ.2550)
Click ดูจาก Youtube
No comments:
Post a Comment